ข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์ ของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นองค์ประกันประทับอยู่ที่หงสาวดีในวัยเยาว์ มิได้มีหลักฐานใดระบุว่าพระองค์ได้บวชเป็นเณร
  • พระเทพกษัตรีย์ ได้ถูกชิงตัวระหว่างทางไปยังล้านช้าง และเมื่อไปถึงหงสาวดีแล้ว ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดระบุว่า พระนางปลงพระชนม์พระองค์เอง เพียงแต่ไม่ได้กล่าวถึงอีกเลย
  • มณีจันทร์ บุคคลที่ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระชายาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในภายหลัง เป็นบุคคลที่ไม่ทราบที่มาที่ไป แต่ในภาพยนตร์กำหนดให้นางเป็นธิดาลับของพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางจันทรา ธิดาของสมิงสอทุต บุคคลที่ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งพระนางจันทราก็เป็นตัวละครสมมติขึ้นมาเช่นกัน[1]
  • ออกพระราชมนู ทหารเอกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ไม่มีที่มาที่ไปเช่นกัน แต่ในภาพยนตร์กำหนดให้เป็นเด็กชายกำพร้าผมยาวที่ถูกตั้งชื่อว่า บุญทิ้ง โดยพระมหาเถรคันฉ่อง และเป็นพระสหายกับพระนเรศวรตั้งแต่วัยเยาว์
  • พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระภิกษุชาวมอญที่ปรากฏบทบาทภายหลังเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ไม่มีหลักฐานว่าเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวัยพระเยาว์แต่ประการใด รวมทั้งไม่ได้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย[2] การที่ผู้สร้างกำหนดให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระอาจารย์ของทั้งพระนเรศวรและพระเจ้าบุเรงนองนั้น เป็นการหยิบเอาลักษณะตัวละครมาจาก พระมหาเถรวัดกุโสดอ ในนวนิยายพงศาวดารเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ
  • การสวรรคตของสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้านั้น มีหลักฐานระบุไว้สองกรณี กรณีแรกระบุว่า ทรงทำท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าบุเรงนองเมื่อครั้งตีอยุธยาได้สำเร็จ จึงให้สำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุง[3] กรณีหลังระบุว่า ประชวรด้วยพระโรคปัจจุบันในระหว่างทางขณะเสด็จไปยังหงสาวดีและได้สวรรคตที่เมืองแครง[4] ในขณะที่ภาพยนตร์กำหนดให้ออกญาจักรีผู้ขายชาติถูกพระราชโองการพระเจ้าบุเรงนองให้ประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุงแทน ส่วนในประวัติศาสตร์มิได้ระบุชะตากรรมภายหลังของออกญาจักรีไว้ และในภาพยนตร์ให้สมเด็จพระมหินทราธิราชถึงแก่สวรรคาลัยด้วยพระโรคปัจจุบันเมื่อถึงหงสาวดีแล้วแทน
  • ปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าระหว่าง สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า กับ พระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ องค์ใดเป็นพระพี่หรือพระน้อง ซึ่งในข้อมูลทั่วไปจะถือเอา สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า เป็นพระเชษฐา แต่ในความเห็นของ สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการผู้ให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์แก่ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้สร้างภาพยนตร์นั้น เห็นว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า น่าจะเป็นพระอนุชา แต่ในภาพยนตร์มีการเรียกสถานะของสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าเป็นทั้งพี่และน้อง ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดประการหนึ่ง[5]
  • ในสงครามช่วงแรกของภาพยนตร์นั้น คือในปี พ.ศ. 2106 ถูกเรียกว่า สงครามช้างเผือก ในสงครามช่วงหลัง คือในปี พ.ศ. 2112 คือ สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1

ใกล้เคียง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคศึกล้างแผ่นดิน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคประกาศอิสรภาพ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ